"ซิ้นหลอด" กาลครั้งหนึ่งนานทีปีหนจะได้กิน


#ซิ้นหลอด….เมนูที่กาลครั้งหนึ่งนานทีปีหนถึงจะได้กิน



       "ซิ้นหลอด"  เป็นภาษาถิ่นของภาคอีสานถ้าจะพูดให้ทุกคนได้เข้าใจตรงกัน  "ซิ้นหลอด" ก็คือเนื้อแห้งนั่นเองค่ะ  พอพูดถึงเมนูนี้ขึ้นมาปูก็อดที่จะคิดถึงสมัยเด็ก ๆ ไม่ได้  เพราะซิ้นหลอดนี้ไม่ใช่ว่าจะหากินกันง่าย ๆ


       ตามชื่อบทความเลยค่ะ " ซิ้นหลอด " เมนูที่กาลครั้งหนึ่งนานทีปีหนจะได้กิน  เพราะต้องรองานบุญประจำปีถึงจะมีการล้มวัวล้มควาย  ซึ่งส่วนมากจะเป็นควาย  เพราะแถวบ้านปูสมัยก่อนจะนิยมเลี้ยงควายมากกว่าวัว  ราคาของควายก็ถูกกว่า  และที่สำคัญควายมีความสำคัญสำหรับชาวไร่ชาวนามาก   เพราะต้องใช้ควายช่วยทำนานั่นเอง 


        ในส่วนของงานบุญต่าง ๆ ในแถบภาคอีสานก็จะถือตาม " ฮีตสิบสองคองสิบสี่ " ซึ่งนักปราชณ์อีสานหลายท่านก็ได้แต่งบทกลอน  แต่งผญาเกี่ยวกับ " ฮีตสิบสองคองสิบสี่ " ไว้เยอะแยะเลยค่ะ  อย่างเช่น ในเว็บ " ธรรมจัดสันติ์ " ก็ได้รวบรวมผญาไว้เช่นกัน


    ถ้าผู้อ่านสนใจบทผญาฉบับเต็มเกี่ยวกับ

" ฮีตสิบสองคองสิบสี่ " ของทางเว็บ ธรรมะจัดสันติ์ ก็สามารถตามต่อได้ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้เลยค่ะ 

   http://dhammajonson.blogspot.com/2011/07/blog-post.html?m=1


      ที่เป็นหมอลำก็มีและปูก็เลือกบทลำล่องของคุณแม่พิกุลทอง  โพนแก้ว  มาฝากผู้อ่านทุกคนที่อยู่เป็นเพื่อนปูในการย้อนตำนาน " ซิ้นหลอด " ไปด้วยกันค่ะ  รับรองว่าน้ำเสียงของคุณแม่พิกุลทองจะพาเราย้อนตำนานกันไปแบบแต๋แล่นแตจนไม่อยากกลับเลยหล่ะค่ะ  ว่าแล้วก็ขออนุญาติหัวเราะดัง ๆ สักห้าวิก่อนนะคะ  

อะครึ ‼ อะครึ ‼ ( นี่คือเสียงหัวเราะ 😂😂 )

      https://youtu.be/wSfcvep2cLg


       ในส่วนงานบุญประจำปีที่ปูเกริ่นไปข้างต้นก็คืองานบุญผะเหวดหรือบุญมหาชาติ  ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนสี่หรือเดือนมีนาคมของทุกปี  และงานบุญกฐินที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนสิบสองหรือเดือนธันวาคมของทุกปีนั่นเองค่ะ


       อย่างที่บอกค่ะว่าตามบ้านนอกบ้านนา 

" ซิ้นหลอด" เป็นของกินที่นาน ๆ ทีจะได้กิน  เพราะฉะนั้นเด็ก ๆ นักเรียนใครที่ได้ห่อข้าวมื้อเที่ยงกับซิ้นหลอดนี้ถือว่าหรูหราหมาเห่าเอาเรื่องเลยค่ะ  ได้แต่รอ ร้อ รอกันไปกว่าเมื่อไหร่บุญใหญ่จะเวียนมาถึง  


      อย่างไรก็ตามถึงจะมีเนื้อมาให้ทานกัน  แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีซิ้นหลอดนี้เลยนะจ๊ะ   เปล่าจ้า‼ คือต้องเหลือจากเมนูลาบเมนูก้อยและเหลือรอดจากเมนูต้มมาแล้ว  คุณถึงจะได้ไปต่อถึงเมนู "ซิ้นหลอด" ในตำนานค่ะ  😂😂😂 เพราะว่า ลาบก้อยและต้มคือพระเอกของงานบุญ 😂😂😂


       ถ้าบ้านไหนมีเนื้อเหลือจากเมนูหลัก ๆ จากการเฉลิมฉลองงานบุญแล้ว  ก็จะนำเนื้อส่วนที่เหลือมา "แล่" หรือภาษาถิ่นอีสานเรียกว่า "ส่อย" เป็นชิ้นเล็ก ๆ ยาว ๆ  แล้วก็โรยด้วยเกลือ  และเกลือนี่แหละค่ะคือพระเอกของ " ซิ้นหลอด " ส่วนนางเอกก็คือผงซูรสค่ะ 😂😂 กระเทียมพริกไทยบ้านไหนมีก็โขลกเข้าไป  คลุกเคล้ากันไป


        เมื่อขยุ้มขยำเครื่องปรุงเข้าเนื้อจนได้ที่   ก็เป็นหน้าที่ของ "ตอก"  ซึ่งทุกบ้านที่ทำนาต้องมีอยู่แล้ว  เราจะนำตอกมาเสียบร้อยซิ้นหลอดในตำนานกัน  จะร้อยสามสี่ชิ้นใส่รวมกัน  แล้วก็มัดและนำมาตากแดด แถวบ้านปูจะเรียกว่า

  " ต่อง " ซิ้นหลอดกี่ต่องก็ว่ากันไป  ตากจนซิ้นหลอดแห้งโน่นแหละค่ะ  จะสองสามแดดสี่แดดกะตากไป


     พอตากแดดพอแล้วเนื้อก็จะเริ่มแห้งและเล็กลงเรื่อย ๆ ลักษณะที่เล็กแบบนี้  อีสานบ้านปูเขาเรียกว่า " หลอด "  นี่แหละค่ะที่มาของคำว่า " ซิ้นหลอด "


      พ่อแม่ปูย่าตายายของลูกหลานอีสานก็ใช้วิธีเอาเนื้อมาตากแดดแบบนี้แหละ  เพื่อไม่ให้มันชื้นและเก็บเอาไว้กินได้นาน ๆ ให้ลูกให้หลานได้ห่อไปกินกับข้าวที่โรงเรียน   หมู่บ้านไหนมีงานบุญ  บรรดาลูกหลานก็จะรู้สึกถึงความหรูหราหมาเห่ากันถ้วนหน้าถ้วนตาเลยหล่ะค่ะ  เพราะได้ห่อ " ซิ้นหลอด " ไปโรงเรียน 5555


      แล้วคนอ่านหล่ะคะใครเคยได้ห่อข้าวกับซิ้นหลอดไปโรงเรียนบ้าง 😂😂😂  ถ้าให้ปูทายพอถึงเทศกาลงานบุญ  ปูว่ากระติ๊บข้าวของทุกคนคงมีแต่ซิ้นหลอดแมนบ้อ  55555 

                💥 โฮ่ง โฮ่ง โฮ่ง 💥


😍 แล้วพบกันใหม่นะคะผู้อ่านที่รัก 😍


รูปถ่ายผู้เขียนถ่ายเองทั้งหมดค่ะ 


ความคิดเห็น

Amazon Shopping

บทความที่ได้รับความนิยม