"รอเธอ" เพลงที่ฟังแล้วคิดถึงบ้าน
หลายคนที่ อายุ 40 ขึ้นไปปูเชื่อว่าต้องรู้จักเพลงรอเธอ แน่ๆ เชื่อไหมคะว่า จนถึงปัจจุบันนี้ เวลาปูค้นหาเพลงนี้ปูไม่ได้ใช้ชื่อเพลงค้นหานะคะ ปูไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันชื่อเพลงอะไร เข้าใจมาตลอดว่าเพลงนี้ มีชื่อว่าคิดถึงบ้านน้อยเราอยู่เคียง ตลกมาก ๆ เลยค่ะ แต่ก็โชคดี อย่างน้อย ที่เอาประโยคนี้ค้นหา ประโยคที่เราเข้าใจว่าเป็นชื่อเพลง ทำให้เราได้เห็นเนื้อเพลงทั้งหมดรวมถึงชื่อเพลงจริง ๆ ด้วย และได้รู้ว่าเพลงที่เราค้นหาอยู่เนี่ยมีชื่อว่า "รอเธอ" ของนักร้องชื่อดัง "อ๊อด โอภาส ทศพร" หนึ่งในนักร้องวง "บรั่นดี" สังกัดค่ายอาร์เอส ซึ่งก่อตั้งวงในปี 2526 ซึ่งเพลงรอเธอก็ออกมาในปี 2528 ในอัลบั้มชุด "รอเธอ" ตัวอย่างเทปเพลงอัลบั้ม "รอเธอ" ของวงบรั่นดีสมัยก่อน
ที่มาของรูป: https://bit.ly/3hJeCRv
ภาพแคปจากเว็บ Digital sound
ในสมัยนั้นมีนักร้องไม่กี่คน และทุกคนที่เป็นนักร้องก็คือนักร้องคุณภาพ มีชื่อเสียงแทบทั้งหมด คุณอ๊อดก็เหมือนกัน ถึงปูจะเป็นเด็กบ้านนอกแต่ก็รู้จักเพลงนี้ ต้องขอบคุณน้าสำอันเป็นที่รัก แต่ปูจะเรียกอ้ายมาตลอด เพราะเราโตไล่เลี่ยกัน คำว่า "อ้าย" ถ้าคนไม่คุ้นจะฟังเหมือนว่าคนพูดดูไม่สุภาพ แต่สำหรับบ้านปู และในแถบพื้นที่ภาคอีสาน มันคือคำนำหน้าเรียกผู้ชายที่อายุมากกว่า หรือเราให้เกียรติเขามาก ๆ ยิ่งในครอบครัวเดียวกัน คำว่าอ้ายมันมีทั้งความรักความห่วงใย มันคือภาระหน้าที่ที่ต้องคอยดูแล คอยคุ้มภัยให้น้อง ๆ และอ้ายสำคนนี้แหละที่คอยช่วยแม่ปูเลี้ยงและดูแลปูกับน้อง ๆ และทำให้ปูมีโอกาสได้รู้จักเพลงนี้ "รอเธอ"
เพลงที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก เหมือนเป็นไทม์แมชชีน ให้เราย้อนความรู้สึกนึกคิดกลับไปในยุคสมัยที่เราได้ฟังเพลงนี้ครั้งแรก ๆ ถึงเพลงนี้จะมีอายุมากแล้ว แต่มันก็ยังใช้ได้กับปู และปูก็เชื่อว่าเนื้อหาของเพลงใช้ได้กับหลาย ๆ คนเช่นกัน เพลงสมัยก่อนทุกตัวอักษรจะมีความหมาย บอกเล่าเรื่องราว จะไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย รวมเพลงเพลงนี้ด้วย "เพลงรอเธอ"
ในสมัยนั้นปูยังจำได้ดีว่า กว่าจะได้ฟังเพลงแต่ละที ต้องรอให้น้ากลับมาจากกรุงเทพฯ เพราะน้าจะรู้วิธีเปิดเทป และจะเก็บเทปคาสเซ็ทไว้เป็นอย่างดีในตู้เล็ก ๆ ที่เก็บตำราเรียนของน้า และผ้าที่น้าเคยเรียนเย็บผ้าไว้ในตู้นั้น พอนึกถึงตู้ใบนั้นก็ทำให้นึกย้อนไปไกลกว่านั้นอีก ว่าเอ๊ะ… ก่อนที่น้าจะไปทำงานที่กรุงเทพฯ เราฟังเพลงอะไรนะ แล้วฟังจากไหน ยิ่งนึกยิ่งเลือนลางไปอีก นี่หล่ะค่ะเป็นเหตุผลให้ปูลุกมาบันทึกความทรงจำดี ๆ เหล่านี้ไว้ ก่อนที่ปูจะจำไม่ได้ เอาจริง ๆ นะ
ในสมัยก่อนย้อนกลับไปช่วงที่ปูยังไม่ขึ้นชั้นประถมด้วยซ้ำ ที่หมู่บ้านปูยังไม่มีไฟฟ้าเลยค่ะ เราจะใช้ตะเกียงก๊าซ คอยจุดให้ความสว่าง แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสว่างโล่เหมือนตะเกียงเจ้าพายุนะ เปล่าค่ะ ปูเคยเห็นหรือไอ้เจ้าตะเกียงเจ้าพายุ ก็เปล่าอีกนั่นแหละ ฮ่า..ฮ่า.. เคยอ่านนิยาย เวลาเขาพูดถึงตะเกียงเจ้าพายุ มันสว่างโล่ไปไกลสามบ้านแปดบ้าน ก็คงจะสว่างกว่าตะเกียงโขอยู่ในความคิดปูนะคะ เพราะตะเกียงก็จะสว่างเฉพาะมุมที่เอาตะเกียงไปตั้งไว้ บ้านแต่ละหลังคงจะมีตะเกียงไม่กี่อัน รวมถึงบ้านปูด้วย เพราะตอนเด็ก ๆ จำได้ว่าเราจุดตะเกียงแค่อันเดียวเวลากินข้าวเย็น จากนั้นก็วางตะเกียงไว้กึ่งกลางบ้าน ใครจะนอนรับลมเสริมเย็น ก็หามุมนอนมุมนั่งเล่น ส่วนปูจะไปขอฟังนิทานจากน้าแตซึ่งเป็นน้องสาวคนเดียวของแม่ ปูจะไปขอฟังนิทานนจากแกบ่อย ๆ ไม่รู้แม่ปูเล่าไม่เป็น หรือน้าเล่าเก่งก็ไม่รู้ ฮ่า..ฮ่า.. อาจจะเป็นเพราะแม่กำลังเลี้ยงน้องที่อายุไล่เลี่ยกับปูก็ได้ น้าเลยเป็นคนช่วยเลี้ยงปูด้วย แต่เอาจริง ๆ น้าแกก็เป็นคนมีวาทศิลป์ดีนะ จะคอยเล่านิทานเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ฟังตลอด โดยเฉพาะเรื่องบักซวย เรื่องบักขาติดกับบักตาบอด ปูก็ขอให้น้าเล่าให้ฟังแทบทุกคืนก่อนนอน ได้นอนฟังนิทานข้าง ๆ น้า ในมุมสลัวของบ้าน เพราะตะเกียงจะอยู่อีกมุมหนึ่ง เสียงจิ้งหรีดร้องตอนดึก ๆ ก็ขับกล่อมไปกับเสียงนิทานของน้าดีนักแล นาน ๆ ทีจะได้กลิ่นขี้ควายโชยมาจากใต้ถุนบ้าน แต่ปูก็ไม่เคยนึกรำคาญหรือรู้สึกไม่ดีเลย เพราะมันคือกลิ่นของบ้าน บ้านที่ฉันรัก
๏ ภาพผู้เขียนถ่ายเองค่ะจนถึงทุกวันนี้เวลาที่ปูกลับบ้าน ปูก็จะพยายามซึมซับทุกอย่างที่เคยทำเท่าที่จะทำได้ ถือตะกร้าไปหาหน่อไม้ทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าแล้ง แต่ก็ไปอารมณ์เหมือนไปทักทายเพื่อนเก่า กอไผ่ที่เคยหาหน่อไม้ ยังอยู่ดีหรือเปล่า ไปหาผักขี้เหล็กตามข้างทาง หาปูหาปลา สำหรับปูมันไม่ใช่แค่การประทังชีวิต มันไม่ใช่แค่วิถีชีวิต การทำแบบนี้มันคือการเก็บเกี่ยวความสุข เหมือนกับเพลง "รอเธอ" มันคือไทม์แมชชีนช่วยกระตุ้นเตือนความทรงจำว่าสมัยนั้น เรามีความสุข มีเสียงหัวเราะมากมายเพียงใด ถึงแม้ว่าเนื้อหาเพลงจะกล่าวถึงเรื่องของหนุ่มสาว แต่สำหรับปูมันทำให้นึกถึงยุคสมัยที่ปูเคยฟัง ว่าช่วงเวลานั้นวิถีชีวิตของเรา ของคนรอบข้าง ของชุมชนเรา เป็นอยู่อย่างไร มันทำให้เรามีความสุขเมื่อนึกถึงช่วงเวลานั้น ๆ
และตอนนี้ความสุข
เราสร้างมันขึ้นมาได้
แม้กระทั่งตอนนี้
ความสุขที่จะอยู่กับเรา
ในทุก ๆ ครั้งที่จะกลับมาอ่านบทความที่เก็บรวบรวมไว้ในนี้ อีสานพันทาง
พันธุ์ลูกข้าวเหนียว
สำหรับใครอยากฟังเพลงรอเธอกดฟังได้ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้เลยนะคะ
จากช่องยูทูป rsfriends
ขอบคุณทุกคนที่ติดตามและคอย
ห้กำลังใจปูมาตลอดนะคะ
เพจ: อีสานพันทาง
#อีสานพันทาง #storytelling #Lifestyle #story #history #esan #northeastern of thailand #ฮักอีสาน #อีสานมีเรื่องเล่า
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น